โรงเรียนอรพินพิทยา
129 ม.10 ถ.สนามกีฬา  ตำบลต้นธง  อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 51000
เบอร์โทรศัพท์ 053-534835 ถึง 6
หลักสูตรที่เปิดสอน
หลักสูตรที่เปิดสอน

 

ความหมาย ความสำคัญของสาระการเรียนรู้
ตามหลักสูตรโรงเรียนอรพินพิทยา พุทธศักราช 2559
(อิง) ตามหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

1. สาระการเรียนรู้ภาษาไทย
     ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติ  เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย  เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  ทำให้สามารถประกอบกิจธุระ การงาน และการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุข และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณญาณ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  ตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ยังเป็นสื่อแสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี และสุนทรียภาพ  เป็นสมบัติล้ำค่าควรแก่การเรียนรู้ อนุรักษ์ และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

2. สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
    คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดของมนุษย์  ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์  คิดอย่างมีเหตุผลเป็นระบบ มีแบบแผน  สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ  ช่วยให้คาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจแก้ปัญหา และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่นๆ  คณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต  ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

3สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์                                                                      
     วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต  เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งในชีวิตประจำวันและการงานอาชีพต่างๆ  ตลอดจนเทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องใช้และผลผลิตต่างๆ  ที่มนุษย์ได้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตและการทำงาน  เหล่านี้ล้วนเป็นผลของความรู้วิทยาศาสตร์  ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และศาสตร์อื่นๆ  วิทยาศาสตร์ช่วยให้มนุษย์ได้พัฒนาวิธีคิด  ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล  คิดสร้างสรรค์  คิดวิเคราะห์  วิจารณญาณ  มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมุลที่หลากหลายและมีประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้  วิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ( Knowledge – Based Society )  ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้รู้วิทยาศาสตร์  เพื่อที่จะมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น  สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล  สร้างสรรค์และมีคุณธรรม

4. สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เเละวิชาประวัติศาสตร์
    สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา  กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  ช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจว่ามนุษย์ดำรงชีวิตอย่างไร  ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและการอยู่ร่วมกันในสังคม  การปรับตัวตามสภาพแวดล้อม  การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงการพัฒนา  เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย  กาลเวลา  ตามเหตุปัจจัยต่างๆ  ทำให้เกิดความเข้าใจตนเอง และผู้อื่น  มีความอดทน อดกลั้น ยอมรับในความแตกต่าง และมีคุณธรรม  สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต  เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ และสังคมโลก

5. สาระการเรียนสุขศึกษาและพลศึกษา
     สุขภาพ หรือสุขภาวะ หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ  สุขภาพหรือสุขภาวะจึงเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะเกี่ยวโยงกับทุกมิติของชีวิต  ซึ่งทุกคนควรจะได้เรียนรู้เรื่องสุขภาพเพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีเจตคติ คุณธรรมและค่านิยมที่เหมาะสม  รวมทั้งมีทักษะปฏิบัติด้านสุขภาพจนเป็นกิจนิสัย  อันจะส่งผลให้สังคมโดยรวมมีคุณภาพ

6. สาระการเรียนรู้ศิลปะ
     กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะเป็นกลุ่มสาระที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีจินตนาการทางศิลปะ  ชื่นชมความงาม  มีสุนทรียภาพ  ความมีคุณค่า  ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์  กิจกรรมทางศิลปะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม  ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง  อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้

7. สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
     กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีเป็นกลุ่มสาระที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียน มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต  และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง  สามารถนำความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตการงานอาชีพและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการทำงานอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ และแข่งขันในสังคมไทยและสากลเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ รักการทำงาน และมีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน  สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างพอเพียงและมีความสุข
 
8. สาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ  สามารถใช้ภาษาต่างประเทศสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ แสวงหาความรู้ ประกอบอาชีพ และศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาคมโลก และสามารถถ่ายทอดความคิดและวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์  ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
- ภาษาเพื่อการสื่อสาร  การใช้ภาษาต่างประเทศในการฟัง พูด อ่าน เขียน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร  แสดงความรู้สึกและความคิดเห็น ตีความ นำเสนอข้อมูล ความคิดรวบยอดและความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างเหมาะสม
- ภาษาและวัฒนธรรม  การใช้ภาษาต่างประเทศตามวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา ความสัมพันธ์  ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างภาษากับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา ภาษาและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษากับวัฒนธรรมไทย  และนำไปใช้อย่างเหมาะสม
- ภาษา ความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น  การใช้ภาษาต่างประเทศในการเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น  เป็นพื้นฐานในการพัฒนา แสวงหาความรู้ และเปิดโลกทัศน์ของตน
- ภาษา ความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก การใช้ภาษาต่างประเทศในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน  ชุมชนและสังคมโลกเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการศึกษาต่อ  ประกอบอาชีพ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมโลก

 

 

 

การจัดการศึกษาระดับปฐมวัย โรงเรียนอรพินพิทยา

การจัดการศึกษาระดับปฐมวัย โรงเรียนอรพินพิทยา

อุดมการณ์ของการจัดการศึกษาปฐมวัย (เตรียมอนุบาล – อนุบาล)

เป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับแรก  เพื่อวางรากฐานชีวิตของเด็กให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์  มีพัฒนาการสมวัยอย่างสมดุลทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา  บนพื้นฐานความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล  โดยใช้กิจกรรมการเต้น และส่งเสริมพัฒนาที่มุ่งเน้นการอบรมเลี้ยงดู  และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก  ภายใต้บริบททางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางสังคม

หลักการของการจัดการศึกษาปฐมวัย

  1. หลักการพัฒนาเด็กโดยองค์รวม -โดยเริ่มจากการพัฒนาด้านร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ กระตุ้นให้สมองได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่พัฒนาด้านจิตใจและอารมณ์  ให้เป็นผู้มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง  เชื่อมั่นในตนเอง  ร่าเริงแจ่มใส  สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้  พัฒนาด้านสังคมโดยให้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับบุคคล และสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ฝึกความมีมนุษยสัมพันธ์  เพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข  รวมทั้งพัฒนาสติปัญญาและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
  2. หลักการจัดประสบการณ์ที่ยึดเด็กเป็นสำคัญ – โดยจัดการอบรมเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเอาใจใส่และจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย  โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  เน้นเรียนให้สนุก  เล่นให้มีความรู้และเกิดพัฒนาการสมวัยอย่างสมดุล
  3. หลักการเสริมสร้างความเป็นไทย – โดยการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นไทย ความเป็นชาติไทยที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม  เคารพนับถือและกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา และผู้มีพระคุณ  รู้จักเคารพเทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  4. หลักความร่วมมือ – โดยมุ่งเน้นให้ครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาร่วมมือกันในการอบรมเลี้ยงดู และพัฒนาการเด็ก  ให้มีพัฒนาการเหมาะสมกับวัยสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข  ตลอดจนพร้อมที่จะเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  5. หลักแห่งความสอดคล้อง – อุดมการณ์ของการจัดการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียนอรพินพิทยา  ยึดหลักแห่งความสอดคล้องกับสาระบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ และเนื้อหาหลักสูตรมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมาตรฐานการศึกษาระหว่างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักสูตรโรงเรียนอรพินพิทยา พุทธศักราช 2559  ภายใต้การบริหารจัดการตามแนวทางมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย ในมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา  โรงเรียนอรพินพิทยา

หัวหน้าฝ่ายวิชาการอนุบาล และบุคลากรครูระดับหัวหน้าสายชั้นอนุบาล

  1. นางภาวิณี            อาทิตยาภิวัฒน์     หัวหน้าฝ่ายวิชาการอนุบาล
  2. นางดวงเดือน      พวงบุตร                 หัวหน้าสายชั้นอนุบาล 1
  3. นางอรพินท์         นูนทะธรรม             หัวหน้าสายชั้นอนุบาล 2
  4. นางสาวผุสดี       พรหมสิทธิ์              หัวหน้าสายชั้นอนุบาล 3
โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ระดับประถมศึกษา

โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา  ระดับประถมศึกษา

หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนอรพินพิทยา พุทธศักราช 2559   ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551  ได้กำหนดโครงสร้างของหลักสูตรสถานศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรของสถานศึกษามีแนวปฏิบัติ ดังนี้

1.  ระดับการศึกษา  กำหนดหลักสูตรเป็น 2 ระดับ  ตามโครงสร้างของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 และตามภารกิจหลักของการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาของสถานศึกษา ดังนี้

     1.1  ระดับประถมศึกษา ( ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 )  การศึกษาระดับนี้เป็นช่วงแรกของการศึกษาภาคบังคับ  มุ่งเน้นทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ ทักษะการคิดพื้นฐาน  การติดต่อสื่อสาร กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม และพื้นฐานความเป็นมนุษย์  การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสมบูรณ์และสมดุลทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และวัฒนธรรม  โดยเน้นจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ

2.  สาระการเรียนรู้  สาระการเรียนรู้ในหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนอรพินพิทยา พุทธศักราช 2559  ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดไว้ในหลักสูตร ประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะหรือกระบวนการเรียนรู้ และคุณลักษณะหรือค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  คือ

     2.1  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

     2.2  กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์

     2.3  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

     2.4  กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เเละวิชาประวัติศาสตร์

     2.5  กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

     2.6  กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ

     2.7  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี

     2.8  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

3.  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพ  พัฒนาอย่างรอบด้าน  เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม  เสริมสร้างให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย  ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม  สามารถจัดการตนเองได้ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข  แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

     3.1  กิจกรรมแนะแนว  เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักตนเอง  รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม  สามารถคิดตัดสินใจ  คิดแก้ปัญหา  กำหนดเป้าหมาย  วางแผนชีวิตทั้งด้านการเรียนและอาชีพ  สามารถปรับตนเองได้อย่างเหมาะสม  นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจผู้เรียน  ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในการมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน

     3.2  กิจกรรมนักเรียน  เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาความมีระเบียบวินัย  ความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  มีความรับผิดชอบ  การทำงานร่วมกัน  การรู้จักแก้ปัญหา  การตัดสินใจที่เหมาะสม  ความมีเหตุผล  การช่วยเหลือแบ่งปันกัน  เอื้ออาทรและสมานฉันท์  โดยจัดให้สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน  ให้ได้ปฏิบัติด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ได้แก่  การศึกษาวิเคราะห์วางแผน  ปฏิบัติตามแผน  ประเมินและปรับปรุงการทำงาน  เน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน  บริบทของสถานศึกษาและท้องถิ่น  กิจกรรมนักเรียนในหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนอรพินพิทยา พุทธศักราช 2559   ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ประกอบด้วย

          -  กิจกรรมลูกเสือ - ยุวกาชาด

          -  กิจกรรมชุมนุม/ชมรม

    3.3  กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และท้องถิ่นตามความสนใจในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบ ความดีงาม ความเสียสละต่อสังคม มีจิตสาธารณะ

4.  เวลาเรียน  หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนอรพินพิทยา  พุทธศักราช 2559   ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ได้กำหนดกรอบโครงสร้างเวลาเรียนขั้นต่ำสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้  8  กลุ่ม  และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  ซึ่งผู้สอนสามารถเพิ่มเติมได้  ตามความพร้อมและจุดเน้นของสถานศึกษา โ ดยสามารถปรับให้เหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษาและสภาพของผู้เรียน ดังนี้

     ระดับชั้นประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ) ให้จัดเวลาเรียนเป็นรายปี โดยมีเวลาเรียนวันละ ไม่เกิน 6 ชั่วโมง

 

หัวหน้าฝ่ายวิชาการและบุคลากรในฝ่ายวิชาการ

   1.  นางศรีวรรณ          ชัวศิริกุล          หัวหน้าฝ่ายวิชาการประถม

   2.  นางสาวกาญจนา  โปธาพันธ์        เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ

   3.  นายมติพันธ์          ปัญญา             เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ

   4.  นางสาวพัชรา        ขันอุละ            เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ